ยินดีต้อนรับสู่บล็อกผ้ามัดย้อมค่ะ

สรุปข้อมูล

 ผ้ามัดย้อม          
              ผ้ามัดย้อม หมายถึง การทำให้ผ้าเกิดรอยต่างๆ โดยใช้เทคนิคการทำลวดลายโดยการมัด การพับ การเย็บ และใช้อุปกรณ์อื่นๆ ให้เป็นลวดลายตามที่ต้องการ

          การทำผ้ามัดย้อมอาจเริ่มเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจของคนในสมัยโบราณ โดยนักมนุษย์วิทยาสันนิษฐานว่า อาจมีแนวความคิดมาจากการฟอกสีออกด้วยแสงอาทิตย์โดยบังเอิญ ซึ่งหลักฐานความรู้ที่พอจะเชื่อถือได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศในยุคแรกๆที่มีการมัดย้อมผ้าคือ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และแอฟริกาที่มีความคุ้นเคยกับเทคนิคการใช้สีย้อมที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

          ในประเทศอินเดียผ้ามัดย้อมเป็นที่รู้จักกันในชนบทสมัยก่อน ซึ่งพบหลักฐานจากเศษผ้าเมื่อ 5,000 ปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความรู้และประสบการณ์ในการใช้สีย้อม เช่น ส่าหรี (Sari) เป็นต้น

          การมัดย้อมนั้นจะมีหลายรูปแบบและเทคนิคความสวยงามที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ ช่วงเวลาในการค้นพบ หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบในการท้ามัดย้อม แต่สิ่งที่เหมือนกันของผ้ามัดย้อมในทุกชนชาติและทุกๆวัฒนธรรมนั่นก็คือ การพยายามพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆให้สวยงามและเจริญรุ่งเรืองอยู่เสมอ เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต
ชนิดของผ้า
ชนิดของผ้านั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
           เส้นใยธรรมชาติ คือเส้นใยที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งได้จากส่วนต่างๆของพืช ได้แก่ เส้นใยจากเมล็ดเช่น ฝ้าย นุ่น เส้นใยจากใบ เช่น ใยสับปะรด เส้นใยที่ได้จากเปลือกผลไม้ เช่น ลินิน ผ้าปอ ใยกัญชา และที่ได้จากสัตว์ เช่น ผ้าขนสัตว์ ผ้าไหม ซึ่งเส้นใยที่ได้จากขนสัตว์มีคุณสมบัติทั่วไปคล้ายโปรตีน เมื่อเปียกน้ำความเหนียวและความแข็งแรงจะลดลง ถ้าถูกแสงแดดเป็นเวลานานจะสลายตัวหรือกรอบ เส้นใยธรรมชาติจะสามารถย้อมสีออกมาได้ดีและตรงเกือบทุกสี

           เส้นใยสังเคราะห์ เป็นเส้นใยประดิษฐ์ชนิดหนึ่งที่เป็นพอลิเมอร์ ไม่ใช่เซลลูโลส คือผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่เป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์ ซึ่งผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมทั้งหมด มนุษย์ทำเส้นใยชนิดนี้ขึ้นเพื่อทดแทนเส้นใยธรรมชาติ เนื่องจากปัจจุบันเส้นใยธรรมชาติลดน้อยลงเรื่อยๆ ในด้านของการย้อมสีนั้น สีที่ออกมาอาจไม่เหมือนกัน และผ้าแต่ละชนิดจะดูดซึมสีได้ไม่เท่ากันด้วย
สีย้อม
            สีย้อมธรรมชาติ เป็นสีที่ใช้กันในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 5,000 ปี เนื่องจากในสมัยนั้นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ จึงสามารถหาทรัพยากรต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการทำสีโดยง่าย โดยสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสีที่ได้จากส่วนต่างๆของพืช เช่น ต้นไม้ เปลือก ราก แก่น ใบและผล เป็นต้น
ตัวอย่างสีที่ได้จากธรรมชาติ
-สีม่วง ได้จากลูกหว้า อัญชัน
-สีคราม ได้จากรากและใบของต้นครามนำมาผสมน้ำปูนขาวและน้ำ และต้นฮ่อม
-สีชมพู ได้จากต้นฝาง ต้นมหากาฬ
-สีเขียว ได้จากใบหูกวาง เปลือกต้นมะริด เปลือกกะหูด
-สีเขียวอ่อน ได้จากเปลือกมะพร้าวอ่อน ใบมะม่วง เปลือกผลทับทิม
-สีเหลือง ได้จากแก่นขนุน ขมิ้นชัน
-สีเหลืองอมส้ม ได้จากดอกคำฝอย
- สีส้ม ได้จากเปลือกและรากยอ
-สีแดง ได้จากเปลือกยอ ดอกคำฝอย แก่นฝาง ลูกคำแสด
-สีน้ำตาลแก่ ได้จากเปลือกไม้โกงกาง
-สีดำ ได้จากลูกมะเกลือ ลูกกระจาย ต้นกะเม็ง ผลและเปลือกของสมอ

          สีรีแอ็คทีฟ เป็นสีเพ้นท์ผ้าบาติกชนิดผงละลายในน้ำร้อนในอัตราส่วนประมาณ สี 1 ช้อนชา ต่อน้ำครึ่งแก้ว ความเข้มของสีขึ้นอยู่กับการผสมน้ำมาก-น้อย ใช้ระบายโดยตรงลงบนผ้าใยธรรมชาติเท่านั้น เช่น ฝ้าย ลินิน ป่านมัสลิน ไหม สาลู เรยอง เมื่อสีแห้งดีแล้วต้องใช้น้ำยาโซเดียม ซิลิเกต เป็นตัวยึดให้สีติดผ้า กันสีตก โดยวิธีจุ่มหรือทาให้ทั่วชิ้นงาน ถ้าสีส่วนไหนที่ไม่ติดโซเดียม ซิลิเกต สีจะตกหลุดไม่ติดผ้า และในขณะที่ระบายสีลงผ้า ถ้าโดนน้ำสีจะด่างเป็นดวงทันที

          โซเดียม ซิลิเกต เป็นน้ำยากันสีตก มีลักษณะเหลวใส ขาวขุ่น คล้ายกาว แบ่งขายเป็นกิโล มีความเข้มข้นต่างกันไป การใช้งานจุ่มซิลิเกต ไม่ต้องผสมน้ำให้เจือจาง ให้ใช้ซิลิเกตเข้มข้น เพื่อให้สีติดผ้าได้ดี ไม่ตก ไม่เลอะจุ่มแล้วบิดหมักไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วจึงนำไปล้างน้ำเอาสีตกค้างออกหลายๆน้ำ จนเห็นว่าน้ำใสดีไม่มีสีตกค้าง ก็ทำความสะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก ล้างออกให้หมด นำไปบิดตากแห้งในที่ร่ม แล้วนำไปใช้ได้เลย




1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณค่ะ เนื้อหาช่วยให้เข้าในได้ง่ายขึ้น สามารถนำไปสอนไดค่ะ

    ตอบลบ